งานขุดลอกและถมทะเล เป็นกิจกรรมหลักของการก่อสร้างโครงการ โดยใช้เรือ Cutter Suction Dredger เป็นเรือขุดแบบหัวสว่าน จำนวน 3 ลำ มีพื้นที่ขุดลอกประมาณ 6.2 ล้านตารางเมตร ปริมาณการขุดลอก 57 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทรายที่ได้จากการขุดลอกจะนำไปใช้ในการก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล เขื่อนกันคลื่น และถมพื้นที่ท่าเรือบริเวณต่างๆ คาดว่าจะดำเนินการขุดลอกและถมทะเลแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2569
พื้นที่ขุดลอกของโครงการ
- บริเวณแอ่งจอดเรือและร่องน้ำเดินเรือ ระดับความลึก -18.50 ม.รทก.
- บริเวณจุดเชื่อมต่อร่องน้ำเดินเรือเดิม ระดับความลึก -16.00 ม.รทก.
- บริเวณแอ่งจอดเรือและร่องน้ำเดินเรือชายฝั่ง ระดับความลึก -9.00 ม.รทก.







มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- ใช้เรือขุดแบบ Cutter Suction Dredger ในการขุดลอก โดยก่อนการขุดลอกต้องล้อมม่านกันตะกอนรอบเรือขุดทุกลำ
- ติดตั้งม่านกันตะกอน 2 ชั้น ล้อมรอบบริเวณจุดปล่อยน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของตะกอน
- ตรวจสอบท่อลำเลียงวัสดุและรอยต่อของท่ออยู่เสมอเพื่อป้องกันการรั่วไหลของตะกอนดินจากการขุดลอก
- ก่อนดำเนินการต้องประชาสัมพันธ์ขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างทางทะเล พื้นที่ที่ทำการถมทะเล และพื้นที่ที่ทำการขุดลอกให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
- วิธีการขุดลอกและถมทะเล รวมถึงขั้นตอนและลำดับการก่อสร้างองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการ ต้องดำเนินการตามวิธีและแผนการก่อสร้างที่ระบุในรายงาน EHIA อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการขุดลอกและถมทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง (คลื่นสูงกว่า 1.5 เมตร) เพื่อป้องกันคลื่นลมซึ่งเป็นต้นเหตุของการฟุ้งกระจายของตะกอน
- กำหนดให้เรือขุดลอกหรือเรือบรรทุกเปิดท้อง ต้องติดตั้งระบบ DGPS สำหรับใช้กำหนดจุดที่เรือต้องขุดลอกและปล่อยตะกอนให้ชัดเจน รวมทั้งใช้ในการตรวจติดตามการทำงานของเรือที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง
- ควบคุมปริมาณสารแขวนลอย (SS) จากจุดระบายน้ำออกทะเล ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไม่เกิน 89 มิลลิกรัมต่อลิตร
- หยุดกิจกรรมการขุดลอกและถมทะเลบริเวณพื้นที่ถมทะเลในช่วงเวลาน้ำขึ้นสูงกว่า 1.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง