Search
Close this search box.
ABOUT US PROJECT

ท่าเรือแหลมฉบัง

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และเปิดให้บริการ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ต่อมา มีการสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2540 และเปิดให้บริการ ระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2546

              ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือขนถ่ายตู้สินค้าที่สำคัญของประเทศไทยมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 11.10 ล้านทีอียู/ปี และรองรับการนำเข้า-ส่งออก สินค้ารถยนต์ 1.95 ล้านคัน/ปี อย่างไรก็ตาม การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้พิจารณาถึงขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง เปรียบเทียบกับการพยากรณ์ปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตพบว่า ปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง 8 ล้าน ทีอียู/ปี และจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้าน ทีอียู/ปี ในปี พ.ศ. 2568 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เพียงพอกับปริมาณตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นและรองรับการพัฒนาตามแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอินโดจีน และเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่จีนและอินเดีย อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งสินค้า ดังนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยดำเนินการในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้โครงการความร่วมมือในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

              โดยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน
พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา